หน้าเว็บ

พระบรมราโชวาทและพระดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชการที่ ๙

พระบรมราโชวาทและพระดำรัส
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชการที่ ๙
เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม
พระบรมราชโองการ วันศุกร์ที่ ๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓
“….อันพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติของเรานี้   ตามความอบรมที่ได้รับมาก็ดี ตามความศรัทธาเชื่อถือส่วนตัวข้าพเจ้าก็ดี เห็นเป็นศาสนาที่ดีศาสนาหนึ่ง มีคำสั่งสอนให้คนประพฤติเป็นคนดี ทั้งเพียบพร้อมด้วยบรรดาสัจจธรรมอันชอบด้วยเหตุผล น่าเลื่อมใสยิ่งนัก…”
พระราชดำรัส วันพฤหัสบดีที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๔๙๙
“...อันสิ่งที่เรียกกันว่า “อุดมคตินั้น” ก็คือมโนภาพหรือความนึกคิดถึงความดีความงามอันเลอเลิศในสิ่งหนึ่งสิ่งใด ซึ่งถ้าเป็นไปตามมโนภาพนั้นแล้ว ก็จะจัดว่าเป็นของที่ดีที่งามเลิศด้วยประการทั้งปวง กล่าวโดยทั่วไป มนุษย์เราย่อมปรารถนาจะประสบแต่สิ่งที่ดีงามเจริญตาเจริญใจ จึงควรจะได้มีอุดมคติด้วยกันทั้งนั้น แต่หากควรเป็นไปในทางไม่ก่อความเบียดเบียนแก่อื่น โดยเพ่งเล็งถึงประโยชน์สุขของผู้อื่นหรือส่วนรวมด้วย การเล็งผลดีหรืองามเลิศดังว่านี้ ถ้าหากเป็นไปเพียงแต่เพื่อประโยชน์สุขของตนเองเท่านั้น และเป็นการเบียดเบียนประโยชน์สุขของผู้อื่นแล้ว ก็จะกลายเป็นความเห็นแก่ตัวหาควรได้ชื่อว่า “อุดมคติ” ไม่ ... ”
พระบรมราโชวาท ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๐๐
“…บรรดาผู้สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรขอมมหาวิทยาลัย ก็เปรียบเหมือนได้กุญแจที่จะไขไปสู่ชีวิตที่เจริญต่อไปในวันข้างหน้า แต่ขอเตือนว่าการดำเนินชีวิตโดยใช้วิชาการอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ จะต้องอาศัยความรู้รอบตัวและหลักศีลธรรมประกอบด้วย    ผู้ที่มีความรู้ดี   แต่ขาดความยั้งคิด นำความรู้ไปใช้ในทางมิชอบ ก็เท่ากับเป็นบุคคลที่เป็นภัยแก่สังคมของมนุษย์ ฉะนั้น ขอให้ทุกคนจงดำรงชีวิตและประกอบอาชีพ โดยอาศัยวิชาความรู้ที่ได้รับมา   ประกอบด้วยความยั้งคิดชั่งใจและศีลธรรมอันดีงาม เพื่อความเจริญก้าวหน้าของตนเองและของประเทศชาติ.... ”
พระบรมราโชวาท ๑๘ กันยายน ๒๕๐๔
“ ...การศึกษาเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญยิ่งของมนุษย์   คนเราเมื่อเกิดมาก็ได้รับการสั่งสอนจากบิดามารดา อันเป็นความรู้เบื้องต้น เมื่อเจริญเติบโตขึ้นก็เป็นหน้าที่ของครูและอาจารย์ สั่งสอนให้ได้รับวิชาความรู้ และอบรมจิตใจให้ถึงพร้อมด้วยคุณธรรม เพื่อจะได้เป็นพลเมืองดีของชาติสืบต่อไป งานของครูจึงเป็นงานที่สำคัญยิ่ง ท่านทั้งหลายซึ่งจะออกไปทำหน้าที่ครู จะต้องตั้งมั่นอยู่ในหลักศีลธรรม   และพยายามถ่ายทอดวิชาความรู้แก่เด็กให้ดีที่สุดที่จะทำได้ นอกจากนี้ จงวางตนให้สมกับที่เป็นครูให้นักเรียนมีความเคารพนับถือ และเป็นที่เลื่อมใสไว้วางใจของผู้ปกครองนักเรียนด้วย....”
พระบรมราโชวาท ๑๓ ธันวาคม ๒๕๐๕
“ ...การปิดทองหลังพระนั้น เมื่อถึงคราวจำเป็นก็ต้องปิด ว่าที่จริงแล้วคนโดยมากไม่ค่อยชอบปิดทองหลังพระกันนัก เพราะนึกว่าไม่มีใครเห็น แต่ถ้าทุกคนพากันปิดทองแต่ข้างหน้าไม่มีใครปิดทองหลังพระเลย พระจะเป็นพระที่งามบริบูรณ์ไม่ได้... ”
พระบรมราโชวาท ๑๖ มกราคม ๒๕๑๒
“ ...การเข้าถึงสถานการณ์และสภาพของผู้ที่เราจะช่วยเหลือนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่สุด การช่วยเหลือให้เขาได้รับสิ่งที่เขาควรจะได้รับตามความจำเป็นอย่างเหมาะสม จะเป็นการช่วยเหลือที่ได้ผลดีที่สุด... ”
พระราชดำรัส ๖ เมษายน   ๒๕๑๒
“ ...การพัฒนาชนบทเป็นงานที่สำคัญ เป็นงานที่ยาก เป็นงานที่จะต้องทำให้ได้ด้วยความสามารถ ด้วยความเฉลียวฉลาด คือทั้งเฉลียวทั้งฉลาด ต้องทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ มิใช่มุ่งที่จะหากินด้วยวิธีการใดๆ ใครอยากหากินขอให้ลาออกจากตำแหน่ง ไปทำการค้าดีกว่า เพร่าว่าถ้าทำผิดพลาดไปแล้วบ้านเมืองของเราล่มจม และเมื่อบ้านเมืองเราร่มจมแล้วเราอยู่ไม่ได้ ก็เท่ากับเสียหมดทุกอย่าง....”
พระบรมราโชวาท ๑๓ มิถุนายน ๒๕๑๒
“ ...ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้คนทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปรกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดีหากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้... ”
พระบรมราโชวาท ๑๑ ธันวาคม ๒๕๑๒
“ ...งานสำคัญที่สุอย่างหนึ่งของชาติ เพราะความเจริญและความเสื่อมของชาตินั้น ขึ้นอยู่กับการศึกษาของพลเมืองเป็นข้อใหญ่ ตามข้อเท็จจริงที่ทราบกันดีแล้ว ระยะนี้บ้านเมืองของเรามีพลเมืองเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งมีสัญญาณบางอย่างเกิดขึ้นด้วยว่า พลเมืองของเราบางส่วนเสื่อมทรามลงไปในความประพฤติและจิตใจ ซึ่งเป็นอาการที่น่าวิตกว่า ถ้ายงคงเป็นอยู่ต่อไป เราอาจเอาตัวไม่รอด ปรากฏการณ์เช่นนี้ นอกจากเหตุอื่นแล้ว ต้องมีเหตุมาจากการจัดการศึกษาด้วยอย่าแน่นอน จึงพูดได้เต็มปากแล้วว่า เราต้องจัดการด้านการศึกษาให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น และผู้มีหน้าที่ทางด้านนี้ทุกฝ่าย ทุกระดับ ทุกคนจะต้องทำงานกันจริง ๆ ให้หนักแน่นขึ้นอีกมาก ๆ.....”
พระบรมราโชวาท   ๑๒ ธันวาคม ๒๕๑๒
“ ...พระพุทธศาสนาบริบูรณ์ด้วยสัจจธรรมที่เป็นสาระและเป็นประโยชนืในทุกระดับ แต่จะต้องศึกษาให้มีความรู้เข้าใจและปฏิบัติให้เหมาะสมแก่ภาวะปัจจุบันด้วยศรัทธาและปัญญาที่ถูกต้อง จึงจะเกิดประโยชน์ขึ้นได้ 
            บัดนี้ ประเทศชาติกำลังพัฒนาในทุกด้าน และต้องการความสามัคคีความสงบเรียบร้อย ผลดีทั้งปวงดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ด้วยประชาชนมีหลักของใจอันมั่นคง มีศรัทธาและปัญญาอันถูกต้อง และปฏิบัติตนอยู่ในทางที่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม กรณียกิจอันสำคัญของท่านทั้งหลายคือการส่งเสริมประชาชน ให้มีพระรัตนตรัยและธรรมในพระพุทธศาสนาเป็นหลักของใจและความประพฤติ ด้วยศรัทธาและปัญญาที่ถูกต้อง แต่ทั้งนี้ท่านทั้งหลายจะต้องเจริญด้วยศรัทธาและปัญญาที่ถูกต้อง คือความเชื่อในเหตุที่แท้ในผลที่แท้ไม่สับปลับและปัญญาสามารถรู้ตามความเป็นจริงอันเกิดจากความสงบแน่วแน่ของจิต ได้เกิดขึ้นในตนเองก่อน จึงจะสามารถพิจารณาให้เห็นวิธีปฏิบัติเพื่อรักษาส่งเสริมพระพุทธศาสนาให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศชาติได้....”
พระบรมราโชวาท ๑๗ ธันวาคม ๒๕๑๒
“ …งานพัฒนาบ้านเมืองนั้น ต้องอาศัยบุคคลสองประเภท คือนักวิชากับผู้ปฏิบัติ นักวิชาการเป็นผู้วางโครงการ เป็นผู้นำ เป็นผู้ชี้ทาง เป็นที่ปรึกษาของผู้ปฏิบัติ ส่วนผู้ปฏิบัตนั้นเป็นผู้ลงมือลงแรงกระทำงาน งานจะได้ผลหรือไม่เพียงไร ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลสองฝ่ายนี้....”
พระบรมราโชวาท ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๑๓
“   ...งานด้านการศึกษา ศิลปะและวัฒนธรรมนั้น คืองานสร้างสรรค์ความเจริญทางปัญญาและทางจิตใจ ซึ่งเป็นทั้งต้นเหตุทั้งองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ ของความเจริญด้านอื่น ๆทั้งหมด และเป็นปัจจัยที่จะช่วยให้เรารักษาและดำรงความเป็นไทยไว้ได้สืบไป...”
พระบรมราโชวาท ๑๒ ตุลาคม ๒๕๑๓
“ ...หน้าที่ของท่านในการเผยแพร่หลักธรรมในพระพุทธศาสนา จึงอยู่ที่การเลือกเฟ้นข้อธรรมะ และเลือกเฟ้นวิธีการสอน การใช้คำพูดที่เหมาะ อธิบายหลักธรรมะ เทียบเคียงกับตัวอย่างที่เป็นของจริง จนเห็นชัดเจนได้ตามสภาพจิตใจของคนสมัยปัจจุบัน เพื่อช่วยให้แต่ละคนสามารถค้นหาและเข้าใจข้อธรรมะ ซึ่งจะนำมาใช้เป็นหลักการในการดำเนินชีวิต ได้เหมาะสมตามฐานะของตน ๆ...”
พระราชดำรัส ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๑๓
“...ในบ้านเมืองของเรานี้ มีเสียงกล่าวกันว่า ความคิดจิตใจของคนเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เสื่อม ความประพฤติที่เป็นความทุจริตหลายอย่าง มีท่าทีที่จะกลายเป็นสิ่งที่คนทั่วไปพากันยอมรับ และสมยอมในการกระทำกันได้เป็นธรรมดา สภาพการณ์เช่นนี้ย่อมทำให้วิถีชีวิตของแต่ละคนมืดมัวลงไป เป็นปัญหาใหญ่ที่เหมือนกระแสคลื่นอันไหลบ่าเข้ามาท่วมไปหมด จำเป็นต้องแก้ไขด้วยการช่วยกันฝืนคลื่นที่กล่าวนี้
            ในการดำเนินชีวิตของเรา เราต้องข่มใจไม่กระทำสิ่งใด ๆ ที่เรารู้สึกด้วยใจจริงว่าชั่วว่าเสื่อม เราต้องฝืนต้องต้านความคิดและความประพฤติทุกอย่างที่รู้สึกว่าขัดกับธรรมะ เราต้องกล้าและบากบั่นที่จะกระทำสิ่งที่เราทราบว่าเป็นความดี เป็นความถูกต้อง และเป็นธรรม ถ้าเราร่วมกันทำเช่นนี้ให้ได้จริง ๆ ให้ผลของความดีบังเกิดมากขึ้น ๆ   ก้จะช่วยค้ำจุนส่วนรวมไว้มิให้เสื่อมลงไป และจะช่วยให้ฟื้นคืนดีขึ้นได้เป็นลำดับ....”
พระดำรัส ๑๒ ธันวาคม ๒๕๑๓
 “ ....ศาสนาชี้ทางดำเนินชีวิตที่ปราศจากโทษ ทำให้มีความเจริญร่มเย็น คนจึงเชื่อถือประพฤติปฏิบัติตาม ทั้งอุดหนุนค้ำชูศาสนาเพื่อประโยชน์เพื่อความสุขความสวัสดีของตน พระพุทธศาสนานั้นมีลักษณะพิเศษประเสริฐในประการที่อาศัยเหตุผลอันเที่ยงแท้ตามเป็นจริงเป็นพื้นฐาน แสดงคำสั่งสอนที่บุคคลสามารถใช้ปัญญาไตร่ตรองตามและหยิบยกขึ้นปฏิบัติ เพื่อความสุขความเจริญและความบริสุทธิ์ได้ตามวิสัยของตน จึงเป็นศาสนาที่เข้ากับหลักวิทยาศาสตร์ ง่ายที่จะส่งเสริม
            การที่ท่านทั้งหลายจะทำนุบำรุงเผยแผ่ให้แพร่หลายมั่นคง ควรได้ยึดเหตุผลเป็นหลักการ นำข้อธรรมะที่เหมาะแก่เหตุการณ์ เหมาะแก่บริษัทและแก่บุคคลมาชี้แจงให้ถูกต้องตามเนื้อแท้ของธรรมะนั้น ๆ พร้อมทั้งแสดงการกระทำที่มีเหตุผลและมีความบริสุทธิ์ใจให้เป็นตัวอย่างด้วยตนเอง การบำรุงพระพุทธศาสนา ตลอดจนงานสร้างเสริมศีลธรรมจริยธรรม ทั้งในผู้ใหญ่ผู้เยาว์ของท่าน จะบรรลุผลที่น่าพึงพอใจได้ไม่ยากนัก...”
พระราชดำรัส ๒๗ ตุลาตม  ๒๕๑๕
“...การแก้ปัญหาเยาชน ที่ยุวพุทธิกสมาคมจะทำได้อย่างดี ควรจะได้แก่การปลูกฝังความคิดจิตใจที่สุจริต และส่งเสริมความประพฤติที่ดีงามต่าง ๆ ในการนี้มีจุดสำคัญที่เป็นหลักปฏิบัติอยู่ ที่จะต้องพิสูจน์ว่า การทำสิ่งที่ดีงามนั้นไม่ใช่ของที่พ้นสมัยหรือที่น่ากระดากอาย   หากเป็นของที่ทุกคนทำได้ไม่ยาก และให้ผลตอบแทนอย่างคุ้มค่า เพราะความดีนั้นทรงค่าและทรงผลดีอยู่ตลอดกาลมิได้เปลี่ยนแปลง มีแต่ค่านิยมในความดีเท่านั้น ที่เปลี่ยนแปลงไปท่านทั้งหลายควรสำรวจความคิดความเข้าใจของท่านในเรื่องเหล่านี้ ด้วยความสุจริตใจให้กระจ่าง แล้วหาทางอธิบายแก่ผู้อื่นด้วยเหตุผลอย่างเหมาะสม ทั้งต้องเพียรพยายามทำอยู่ตลอดไปโดยไม่ท้อถอย เชื่อว่า ถ้าได้ร่วมมือพร้อมเพรียงกันจริง ๆแล้ว จะสามารถแก้ปัญหาน่าวิตกได้อย่างมากที่สุด....”
พระราชดำรัส ๑๓ เมษายน ๒๕๑๖
“...ความรู้จักอดทนและอดกลั้นไม่ยอมตัวยอมใจให้วู่วามไปตามเหตุการณ์   ตามอคติ   และตามอารมณ์ที่ชอบใจและไม่ชอบใจนั้นทำให้เกิดมีการยั้งคิด และธรรมดาคนเรา เมื่อยั้งคิดได้แล้ว ย่อมมีโอกาสที่จะพิจารณาเรื่องที่ทำที่พูด ทบทวนดูใหม่ได้อกคำรบหนึ่ง การพิจารณาทบทวนเรื่องใด ๆใหม่   ย่อมจะช่วยให้มองเห็นละเอียดชัดเจนขึ้น ทำให้เกิดความเข้าใจอันกระจ่างสว่างไสว ทั้งในแง่ที่จะคิด ทั้งในทางที่จะปฏิบัติ ปัญหาหรือความติดขัดก็ย่อมบรรเทาลง สามารถจะดำเนินงานทุกอย่างต่อไปได้โดยถูกต้องไม่ผิด ไม่พุ่ง ไม่หลง และไม่เสียเวลางานที่ทำก็จะบรรลุผลสมบูรณ์บริบูรณ์...”
พระบรมราโชวาท ๑๔ กันยายน ๒๕๑๖
“...การสร้างสรรค์ตนเอง การสร้างบ้านเมืองก็ตาม มิใช่ว่าสร้างในวันเดียวต้องใชเวลาต้องใช้ความเพียร ต้องใช้ความอดทนเสียสละ แต่สำคัญที่สุดคือความอดทน คือไม่ย่อท้อ ไม่ย่อท้อในสิ่งที่ดีงาม สิ่งที่ดีงามนั้นทำมันน่าเบื่อ บางทีเหมือนว่าไม่ได้ผลไม่ดัง คือดูมันครึทำดีนี่ แต่ขอรับรองว่าการทำดีไม่ครึต้องมีความอดทน   เวลาข้างหน้าจะเห็นผลแน่นอนในความอดทนในความอดทนของตน ในความเพียรของตน ต้องถือว่าวันนี้เราทำยังไม่ได้ผล อย่าไปท้อบอกว่าวันนี้เราทำแล้วก็ไม่ได้ผล พรุ่งนี้เราจะต้องทำอีก วันนี้เราทำ พรุ่งนี้เราก็ทำ อาทิตย์หน้าเราก็ทำ เดือนหน้าเราก็ทำ...”
กระแสพระบรมราโชวาท ๒๗ ตุลาคม ๒๕๑๖
“...พระพุทธศาสนามีคำสั่งสอนที่เป็นสัจจธรรมและเป็นไปตามเหตุผล ดังนั้น ผู้มีปัญญาตริตรองจึงเห็นจริง และมีศรัทธาเกิดขึ้นอย่างมั่นคง การส่งเสริมเผยแพร่พระศาสนา กล่าวได้ว่าควรจะเน้นที่การสร้างศรัทธาเป็นข้อสำคัญ
            ศรัทธาความเชื่อถือ กล่าวได้ว่ามีสองอย่าง ได้แก่ศรัทธาที่มีผู้อื่นชักนำกับศรัทธาที่เกิดขึ้นในตนเอง ศรัทธาอย่างไหนก็ตาม อาจให้ผลได้ทั้งทางดีและทางเสื่อม ขึ้นอยู่กับวิธีการที่สร้างขึ้น ถ้าสักแต่ว่าเชื่อ ไม่ได้ใช้ปัญญาพิจารณาแล้ว ก็ไม่ได้ประโยชน์จากศรัทธานั้น อาจเกิดโทษก็ได้ จำเป็นต้องใช้ปัญญาความรู้เหตุรู้ผล พิจารณาวิเคราะห์ให้เห็นถ่องแท้ก่อน ว่าเรื่องใด สิ่งใดมาจากความคิดที่ดีหรือจากความคิดที่ชั่ว แล้วปลูกศรัทธาลงแต่ในส่วนท่เกิดจากความคิดที่ดี จึงจะเป็นประโยชน์เต็มเปี่ยม
            ผู้ที่จะเผยแพร่พุทธธรรม ควรอย่างยิ่งที่จะถือเป็นภาระเบื้องต้น ในการชี้แจงให้ผู้ฟังเห็นคุณเห็นโทษของสิ่งต่าง ๆ โดยชัดเจน จึงจะสามาระสร้างศรัทธาที่ถูกต้องให้เกิดขึ้นได้ และสามารถจรรโลงพระศาสนา  ส่งเสริมจริยธรรมได้เป็นผลสำเร็จ...”
พระบรมราโชวาท ๗-๙ ธันวาคม ๒๕๑๗
            “…ความสุขความเจริญอันแท้จริงนั้น หมายถึงความสุขความเจริญที่บุคคลแสวงหา ได้ด้วยความเป็นธรรม ทั้งในเจตนาและการกระทำ ไม่ใช่ได้มาด้วยความบังเอิญ หรือด้วยการแก่งแย่งเบียดบังมาจากผู้อื่น...”
พระบรมราโชวาท ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๑๘
            “…พระพุทธศาสนาชี้ทางดำเนินชีวิตที่ปราศจากโทษ    ช่วยให้เกิดความเจริญร่มเย็นได้อย่างแท้จริง เพราะมีคำสั่งสอนที่มีลักษณะพิเศษประเสริฐในประการที่อาศัยเหตุผลอันถูกต้องเที่ยงรงตามความเป็นจริงเป็นพื้นฐาน และแสดงคำอธิบายที่ครบถ้วนชัดเจน อันบุคคลสามารถใช้ปัญญาไตร่ตรองตาม และหยิบยกขึ้นปฏิบัติเพื่อความสุขความเจริญและความบริสุทธิ์ ได้ตามความสามารถและอัธยาศัยของตน ๆ จึงเป็นศาสนาที่เข้ากับหลักวิทยาศาสตร์ และเป็นประโยชน์ได้แท้จริงแก่ทุกคนที่จะพอใจหันเข้ามาศึกษา เลือกสรรหัวข้อธรรมที่เหมาสมไปปฏิบัติ...”
พระราชดำรัส ๖ ธันวาคม ๒๕๑๘
“…ประเทศติที่อยู่ได้ ก็ด้วยความสามัคคี เห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน ไม่ปัดข้าปัดแข้งกัน หรืออิจฉาริษยากัน ทำเช่นนั้นก็จำให้เมืองไทยอยู่ต่อไปได้อย่างที่เคยอยู่มาเป็นหลายศตวรรษมาแล้ว ไม่มีใครที่จะมาล้มเราได้    ถ้าเราไม่ล้มตนเอง...”
พระราชดำรัส ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๑๙
            “…ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดที่เป็นอยู่แก่เราในวันนี้ ย่อมมีต้นเรื่องมาก่อน เช่นที่ท่านมีความรู้มีปริญญาอยู่ขณะนี้ ก็เป็นเพราะได้ลงทุนลงแรงเล่าเรียนมา ต้นเรื่องนั้นคือเหตุ
สิ่งที่ได้รับคือผล และผลที่ท่านมีความรู้อยู่ขณะนี้ จะเป็นเหตุให้เกิดผลอย่างอื่นต่อไปอีก คำทำให้สามารถใช้ความรู้ที่มีอยู่การทำงานที่ต้องการได้   แล้วการทำงานของท่านก็จะเป็นเหตุให้เกิดผลอื่น ๆ เนื่องกันไปอีกไม่หยุดยั้ง ดังนั้นที่พูดกันว่าให้พิจารณาเหตุผลให้ดีนั้น กล่าวอีกนัยหนึ่ง ก็คือให้พิจารณาการกระทำหรือกรรมของตนให้ดีนั่นเอง คนเราโดยมากมักนึกว่า อนาคตจะเป็นอย่างไร เราทราบไม่ได้ แต่ที่จริง เราย่อมจะทราบได้บ้างเหมือนกัน เพราะอนาคตก็คือผลของการกระทำในปัจจุบัน ถ้าปัจจุบันทำดี อนาคตก็ไม่ควรจะตกต่ำ ฉะนั้น เมื่อกระทำการใด ๆ ควรจะนึกว่าการนั้นจะมีผลสืบไปในอนาคต จักได้มีสติ กระทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยความรู้ตัวและระมัดระวัง   ทั้งควรจะสำนึกตระหนักด้วยว่า การพิจารณาการกระทำของตนเองในปัจจุบันนั้น นับว่าสำคัญที่สุดจะต้องคิดพิจารณาให้รอบคอบและถ่องแท้ทุกครั้งไป มิฉะนั้น  ผลที่เกิดขึ้นอาจต้องทำให้ผิดหวังอย่างมากที่สุดก็เป็นได้....”
พระบรมราโชวาท ๘ กรกฎาคม ๒๕๑๙
            “…อคตินั้นเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้มองไม่เห็นทาง เพราะลำเอียงเข้าข้างตัว ด้วยอำนาจความรักบ้าง ความชังบ้าง ความหลงใหลบ้าง เมื่อเกิดอคติแล้วก็จะทำให้สับสนในเหตุและผล ไม่ทตามเหตุผล และเมื่อไม่ทำตามเหตุผล ความผิดพลาดก็ต้องเกิดขึ้น...”
พระบรมราโชวาท ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๑๙
            “…การจะทำงานให้มีประสิทธิผลและให้ดำเนินไปได้โดยราบรื่นนั้น จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องทำด้วยความรับผิดชอบอย่างสูง ไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง ไม่บิดเบียนจุดประสงค์ที่แท้จริงของงาน สำคัญที่สุด ต้องเข้าใจความหมายของคำว่า “ ความรับผิดชอบ ” ให้ถูกต้อง ...”
พระบรมราโชวาท ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๑๙
            “…การที่จะทำงานให้สัมฤทธิ์ผลที่พึงปรารถนา คือ ที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรมได้นั้น จะอาศัยความรู้แต่เพียงอย่างเดียวมิได้ จำเป็นต้องอาศัยความสุจริต ความบริสุทธิ์ใจ และความถูกต้องเป็นธรรมประกอบด้วย...”
พระบรมราโชวาท ๘ กรกฎาคม ๒๕๒๐
            “…ความเจริญนั้นมักจำแนกกันเป็นสองอย่าง คือความเจริญทางวัตถุอย่างหนึ่ง และความเจริญทางจิตใจอีกอย่างหนึ่ง ยิ่งกว่านั้น ยังเห็นกันว่า ความเจริญอย่างแรกอาศัยวิชาการทางด้านวิทยาศาสตร์เป็นปัจจัยสร้างสรรค์ ส่วนความเจริญอย่างหลังอาศัยศิลปะศีลธรรมจรรยาเป็นปัจจัย แท้จริงแล้ว ความเจริญทางวัตถุกับความเจริญทางจิตใจก็ดี   หรือความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์กับทางด้านศิลปะศีลธรรมจรรยาก็ดี มิใช่สิ่งที่จะแยกออกจากกันให้เด็ดขาดได้ ทั้งนี้เพราะสิ่งที่เราพยายามจะแยกออกจากกันนั้นมีมูลฐานที่เกิดอันเดียวกันคือ”ความจริงใจ” ซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์ ถึงพยายามจะแยกจากกันอย่างไร ๆ ที่สุดก็จะรวมลงสู่กำเนิดจุดเดียวกัน แม้แต่จุดประสงค์ก็จะลงสู่จุดเดียวกัน คือความสุข ความพอใจของทุกคน ...”
พระบรมราโชวาท ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๒๐
            “…เมื่อวันวาน   ข้าพเจ้าได้กล่าวแก่บัณฑิตย์ในที่ประชุมนี้ว่า การให้การศึกษาโดยความหมายรวบยอด หมายถึงการช่วยให้บุคคลค้นพบวิธีดำเนินชีวิตที่ไปสู่ความเจริญและความสุข ผู้สอนมีหน้าที่หาความรู้และวิธีการดำเนินชีวิตที่ดีมากให้ศิษย์ เพื่อให้สามารถเรียนรู้ให้ก้าวหน้า และดำเนินชีวิตต่อไปด้วยดีจุดหมาย ในการนี้ หากผู้สอนมีอุบายหรือวิธีการอันแยบคายแล้ว จะช่วยให้การสอนได้ผลและมีประสิทธิภาพสมบูรณ์...”
พระบรมราโชวาท ๒๐ มิถุนายน ๒๕๒๒
            “...การทำงานใด ๆไม่ว่าเล็ก ใหญ่ ง่าย ยาก ถ้าย่อหย่อนจากความเพียรแล้ว ยากที่จะให้สำเร็จเรียบร้อยทันเวลาได้ การฝึกฝนความเพียร ถึงหากแรก จะรู้สึกเหน็ดเหนื่อยลำบาก   แต่พอได้เพียรจนเป็นนิสัยแล้ว ก็จะกลับเป็นพลัง อย่างสำคัญที่คอยกระตุ้นเตือนให้ทำงานอย่างจริงจัง ด้วยใจร่าเริง...”
พระบรมราโชวาท ๒๑ มิถุนายน ๒๕๒๒
            “...คุณสมบัติพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับทุกคนนั้น ที่สำคัญได้แก่ ความรู้จักผิดชอบชั่วดี ความละอายชั่วกลัวบาป ความซื่อสัตย์สุจริต ทั้งในความคิดและการกระทำ ความไม่เห็นแก่ตัว ไม่เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น ความไม่มักง่าย หยาบคาย กับอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญเป็นพิเศษ คือ ความขยันหมั่นเพียร...”
พระบรมราโชวาท ๒๒ มิถุนายน ๒๕๒๒
            “…การศึกษาที่ดีด้านวิชาการเป็นทั้งรากฐานและปัจจัยสำหรับการสร้างสรรค์ แต่การที่จะนำเอาวิชาการมาสร้างสรรค์ให้สำเร็จได้นั้น จำเป็นที่สุด ที่จะต้องอาศัยการศึกษาที่ดีด้านอื่น ๆ เข้าประกอบอุดหนุนด้วย การศึกษาด้านอื่น ๆ นั้น หมายถึงการศึกษาอบรมทุก ๆ อย่างทั้งทางความคิดจิตใจและความประพฤติปฏิบัติ อันเป็นตัวสำคัญในการฝึกฝนขัดเกลา ให้บุคคลมีความคิดความฉลาด หนักแน่นในเหตุผลและความสุจริต ละเอียดรอบคอบ รู้จักรับผิดชอบ รู้จักตัดสินใจตามทางที่ถูกต้องเป็นธรรม และสำคัญอย่างยิ่ง ก็คือมีความขยันหมั่นเพียร อุตสาหะขวยขวายที่จะลงมือทำการทุกอย่างไม่ว่าเล็กใหญ่ง่ายยาก ด้วยตนเอง...”
พระบรมราโชวาท ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๒๒
            “…คนไม่มีความสุจริต คนไม่มีความมั่นคง ชอบแต่มักง่าย ไม่มีวันจะสร้างสรรค์ประโยชน์ส่วนรวมที่สำคัญอันใดได้ ผู้ที่มีความสุจริตและความมุ่งมั่นเท่านั้น จึงจะทำงานสำคัญยิ่งใหญ่ที่เป็นคุณเป็นประโยชน์แท้จริงได้สำเร็จ...”
พระบรมราโชวาท ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๒๒
            “…ผู้ที่มีความสุจริตและบริสุทธิ์ใจ แม้จะมีความรู้น้อยก็ย่อมทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมได้มากกว่าผู้มีความรู้มากแต่ไม่มีความสุจริต ไม่มีความบริสุทธิ์ใจ...”
พระราชดำรัส ๑๘ มีนาคม ๒๕๒๓
            “...ความรู้ที่สะสมเอาไว้ในตัวเป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นเหมือนประทีปสำหรับนำทางเราไปในการปฏิบัติตนในชีวิต   จะเป็นการศึกษาต่อก็ตาม หรือจะเป็นการไปประกอบอาชีพการงานก็ตาม ความรู้นั้นจะเป็นเครื่องนำทางไปสู่ความเจริญ ความรู้ทางวิชาการก็จะสามารถให้ประกอบอาชีพการงานที่มีประสิทธิภาพ เท่ากับเป็นสิ่งที่จะเลี้ยงตัวเลี้ยงกายเรา ความรู้ในทางการประพฤติที่ดี จิตใจที่เข้มแข็ง ที่ซื่อสัตย์สุจริตนั้น จะนำเราไปได้ทุกแห่งเพราะเหตุว่าผู้ที่มีความซื่อสัตย์สุจริต ผู้มีความขยันมั่นเพียร ผู้มีความตั้งใจที่แน่วแน่นั้น ไม่มีทางที่จะล่มจม...”
พระราชดำรัส ๒๗ มีนาคม ๒๕๒๓
            “...การสร้างสรรค์ประโยชน์ต่างๆ ได้เกิดขึ้นนั้น จะต้องทำเพื่อผู้อื่นและส่วนรวม นอกจากตนเองด้วย ยิ่งทำได้กว้างขวางได้เท่าใดก็ยิ่งดีขึ้นเท่านั้น เพราะประโยชน์ที่ถูกต้องแท้จริงในโลก มีสองประการคู่กันเสมอ คือ ประโยชน์ส่วนตัวกับประโยชน์ส่วนรวม คนที่มุ่งแต่ประโยชน์ส่วนตัว จัดว่าเป็นคนไม่สามารถแท้ ซึ่งใคร ๆก็ตามจะไม่สรรเสริญ ขอให้พยายามร่วมกันทำตัวทำงานให้ดังที่กล่าว ผลดีที่ทุกคนมุ่งประสงค์ จะเกิดแก่ชาติบ้านเมืองของเราได้มากมายเกินกว่าที่คาดคิด...”
พระบรมราโชวาท ๑๑ กันยายน ๒๕๒๓
            “...ผู้นั้นถือพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นชาติเชื้อใดและแม้อยู่ในนิกายใด ล้วนถือทางปฏิบัติในกายวาจาใจเป็นอย่างเดียวกัน คือย่อมพยายามอยู่ทุกเมื่อที่จะรักษากายวาจาให้สะอาดด้วยระเบียบปฏิบัติอันดีงามและสุจริต ที่จะควบคุมประคองใจให้สงบด้วยความมีสติรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา....”
พระราชดำรัส ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๒๓
            “...ความซื่อสัตย์สุจริตความดีความเผื่อแผ่นั้น ต้องทำความฉลาด ต้องตระหนัก ต้องพิจารณาว่าคืออะไร เราทำอะไรต้องรู้ว่าไม่เบียดเบียนเพื่อนมนุษย์ ไม่เบียดเบียนเพื่อร่วมชาติ แล้วงานที่ตนทำก็จะเป็นงานที่ดี งานที่สุจริต...”
พระราชดำรัส ๔ ธันวาคม ๒๕๒๓
“...พุทธธรรมคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนาแสดงความจริงแท้ที่เห็นแจ้งโดยปัญญาของพระอริยะ จึงเป็นคำสอนอย่างประเสริฐที่จะพึงศึกษาให้เห็นให้เข้าใจตามด้วยการเพ่งพินิจ มิใช่เข้าใจเอาง่ายๆ โดยไม่อาศัยความพิจารณาไตร่ตรองให้ทั่วถึง เพราะหาไม่จะกลายเป็นความรู้ผิด เห็นผิด เป็นธรรมะปฏิรูปไป ท่านทั้งหลายมาร่วมกันปฏิบัติงานด้านส่งเสริมทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ตลอดจนศีลธรรมจรรยาของประชาชน ย่อมมีหน้าที่ต้องศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรม และเผยแพร่ธรรมอยู่ตลอดเวลา สมควรอย่างยิ่งที่จะศึกษา ปฏิบัติและเผยแพร่ด้วยความระมัดระวังตั้งใจอย่างที่สุด เพื่อให้ได้เนื้อแท้ที่เที่ยงตรงตามพุทธบัญญัติและพุทธาธิบาย การบำเพ็ญกรณีย์กิจของท่านในด้านจรรโลงพระศาสนาจึงจะอำนวยผลอันบริสุทธิ์และบริบูรณ์ทุกแง่ทุกส่วนตามศรัทธาและความปรารถนาที่ตั้งไว้...”
พระบรมราโชวาท ๖ ธันวาคม ๒๕๒๓
            “…ความจริงใจต่อผู้อื่นเป็นของสำคัญมาก สำหรับผู้ที่ต้องการความสำเร็จและความเจริญ เพราะสามารถกำจัดปัญหาได้มากมาย โดยเฉพาะปัญหาอันเกิดจากความกินแหนงแคลงใจ เอารัดเอาเปรียบกัน และคนที่จริงใจต่อผุ้อื่นนั้น ย่อมได้รับความนิยมเชื่อถือไว้วางใจ ร่วมมือสนับสนุนจากสาธุชนอยู่เสมอ จะทำการสิ่งใดจะสำเร็จและราบรื่น ท่านจึงสอนให้รักษาความจริงใจในกันและกันไว้ทุกเมื่อ นอกจากความจริงใจต่อผู้อื่นแล้ว ยังมีความจริงใจต่อตนเองอีกประการหนึ่ง ซึ่งจะต้องรักษาให้มั่นคง และให้ยิ่งขึ้นไป...”
พระบรมราโชวาท ๑๔ มีนาคม ๒๕๒๔
            “…จิตใจต่ำทรามนั้นเป็นจิตใจที่อ่อนแอ ไม่กล้าและไม่อดทนที่จะเพียรพยายามสร้างสมความดีงาม ความเจริญ ความสำเร็จ ในทางที่ถูกต้องเป็นธรรม มีแต่คิดจะให้ได้มาโดยสะดวกง่ายดาย โดยไม่คำนึงถึงผิดชอบชั่วดี จิตใจดังนี้ ถ้าปล่อยให้เกิดมีขึ้นจนเคยชิน อย่างน้อยที่สุด ก็ทำให้เป็นคนมักง่าย ทำงานบกพร่องเสียหายอย่างมาก ก็ทำให้เป็นคนหน้าด้านไร้ยางอาย หยาบคาย ละโมบ ทำอะไรที่ไหนก็เกิดอันตรายที่นั่น ท่านจึงสอนให้สังวรระวังใจของตนให้ดี อย่าให้ความชั่วเกิดขึ้น และหากเกิดขึ้นแล้ว ก็ให้กำจัดเสียทันที...”
พระบรมราโชวาท ๑๖ มีนาคม ๒๕๒๔
            “...วินัย แท้จริงมีอยู่สองอย่าง อย่างหนึ่งคือวินัยตามที่ทราบกันและถือกัน อันได้แก่ข้อปฏิบัติที่บัญญัติไว้เป็นกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ให้ถือปฏิบัติอีกอย่างหนึ่งคือวินัยในตนเอง ที่แต่คนจะต้องบัญญัติขึ้น สำหรับควบคุมบังคับให้มีความจริงใจ   และให้ประพฤติปฏิบัติตามความจริงใจนั้นอย่างมั่นคง มีลักษณะเป็นสัจจาธิษฐาน หรือการตั้งสัตย์สัญญาให้แก่ตัว วินัยอย่างนี้จัดเป็นตัววินัยแท้ เพราะให้ผลจริงและแน่นอนยิ่งกว่าวินัยที่เป็นบทบัญญัติ ทั้งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะเกื้อกูลให้การถือการใช้วินัยที่เป็นบทบัญญัตินั้นได้ผลเที่ยงตรง ถูกต้อง สมบูรณ์เต็มเปี่ยมตามเจตนารมณ์...”
พระบรมราโชวาท ๒๕ มีนาคม ๒๕๒๔
            “...พระพุทธศาสนามีธรรมะอยู่มากมายหลายชั้นอันพอเหมาะพอดีกับอัธยาศัยจิตใจของบุคคลประเภทต่าง ๆ สำหรับเลือกเฟ้นมาแนะนำสั่งสอนขัดเกลาความประพฤติปฏิบัติของบุคคลให้ดีขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวโดยหลักใหญ่แล้วคือสอนให้เป็นคนดี ให้ประพฤติประโยชน์ ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นให้ลำบากเสียหาย สอนให้รู้จักตนเอง รู้จักฐานะของตนพร้อมทั้งรู้จักหน้าที่ที่จะต้องประพฤติปฏิบัติในฐานะนั้น ๆ ซึ่งเมื่อปฏิบัติโดยถูกต้องความถ้วนแล้ว ย่อมจะนำความสุขนำความเจริญ สวัสดีมาให้ได้ทั่วถึงกันหมด หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่ง ก็คือนำความสุข ความร่มเย็นและความวัฒนาถาวรให้เกิดแก่สังคมมนุษย์. หน้าที่ของท่านทั้งหลายอยู่ที่จะต้องถึพยายามศึกษาธรรมะ แต่ละข้อแต่ละหมวดหมู่ ด้วยความละเอียดรอบคอบ ด้วยความเที่ยงตรงเป็นกลาง ให้เกิดความกระจ่างแจ้งลึกซึ้งถึงเหตุ ถึงผล ถึงวุตถุประสงค์แล้วนำไปปฏิบัติ เผยแพร่ให้พอเหมาะพอดี โดยอุบายที่ฉลาดแยบ คาย. ธรรมะในพระพุทธศาสนาจะสามารถคุ้มครองรักษาและอุ้มชูประคับประคองสังคมให้ผาสุกร่มเย็นได้สมดังที่ต้องการ.........”
 พระบรมราโชวาท ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๒๔
“..........ประโยชน์หรือการสร้างสรรค์ในทางที่ดีนั้น จะเกิดได้ก็ด้วยการลงมือทำ หมายความว่า จะต้องนำความรู้ความสามารถที่มีอยู่นั้นมาใช้ ลงมือใช้เมื่อไร เพียงใด ประโยชน์ก็เกิดเมื่อนั้น เมื่อยังไม่ลงมือทำ ประโยชน์ก็ยังไม่เกิด เพราะฉะนั้นถึงหากจะมีความรู้ความสามารถมากมายสักเพียงใด ถ้าไม่นำมาลงมือทำ ก็ปราศจากประโยชน์ บ้านเมืองของเราในเวลานี้อยู่ในสภาวะที่ต้องพัฒนาหรือปรับปรุงตัวเองอย่างรวดเร็วในทุก ๆ ทาง เพื่อให้สามารถก้าวไปทันผู้อื่นเขาได้อย่างมั่งคงและปลอดภัย ทุกคน โดยเฉพาะผู้มีความรู้ จึงต้องขวยขวายทำงานให้เต็มกำลัง.....”
พระบรมราโชวาท ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๒๔
“..........ธรรมมะในพระพุทธศาสนามีความหมดจดบริสุทธิ์และสมบูรณ์บริบูรณ์ด้วยเหตุผล ซึ่งบุคคลสามารถจะศึกษาและปฏิบัติด้วยปัญญาความเพ่งพินิจ ให้เกิดประโยชน์คือ ความเจริญผาสุกแก่ตนได้อย่างเที่ยงแท้ ตั้งแต่ประโยชน์ขั้นพื้นฐาน คือการตั้งตัวได้เป็นปรกติสุขจนถึงประโยชน์ขั้นประมัตถ์ คือหลุดพ้นจากเครื่องเกาะเกี่ยวร้อยรัดทุกประการ..........” 
พระบรมราโชวาท ๑๙ ธันวาคม ๒๕๒๔
“..............พระพุทธศาสนานั้น ถ้าหมายถึงคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแท้ ๆ แล้ว ก็หาภัยอันตรายมิได้ ไม่มีผู้ใดหรือเหตุใด ๆ จะเบียนบ่อนได้เลย เพราะคำสั่งสอนของพระบรมศาสดาเป็นธรรมะ คือหลักความจริงที่คงความจริงอยู่ตลอดกาลทุกเมื่อ ไม่มีแปรผัด. ดังนั้น การป้องกันภัยให้แก่พระพุทธศาสนาก็ดีการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาก็ดีพูดให้ตรง จึงน่าจะหมายถึงการป้องกันภัยให้แก่พุทธบริษัทและการทำนุบำรุงพุทธบริษัทยิ่งกว่าอื่น....”
“................ทุกคนที่ถือตัวว่าเป็นพุทธศาสนิกชนจะต้องศึกษาพระพุทธศาสนาตามภูมิปัญญาความสามารถ และโอกาสของตน ๆ ที่มีอยู่ เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้องกระจ่างชัดขึ้นในหลักธรรม. เมื่อศึกษาเข้าใจแล้ว เห็นประโยชน์แล้วก็น้อมนำมาปฏิบัติทั้งในการดำเนินชีวิตประจำวันและการงานของตน เพื่อให้เกิดความสุขความสงบร่มเย็นและความเจริญงอกงามในชีวิตเพิ่มพูน ขึ้นเป็นลำดับ ตามขีดความประพฤติปฏิบัติของแต่ละคน. ถ้าชาวพุทธรู้ธรรมะ ปฏิบัติธรรมะอย่างถูกต้องทั่วถึงกันมากขึ้น ปฏิบัติการบ่อนเบียนพระศาสนาให้เศร้าหมองก็จะลดน้อยลง เพราะทุกวันนี้ที่เกิดความเสื่อมความเสียหาย ก็มิใช่ผู้ใครอื่นก็ทำให้. เป็นเรื่องที่ชาวพุทธผู้ไม่รู้ไม่เข้าใจและไม่ปฏิบัติตามธรรมะ ทำขึ้นเกือบทั้งนั้น........” 
พระบรมราโชวาท ๑๓ มีนาคม ๒๕๒๕
“...............การรักษาอิสรภาพและความเป็นไทยให้ดำรงมั่งยืนยาวไป ถือว่าเป็นกรณียกิจอันสำคัญสูงสุด นอกจากต้องอาศัยการบริหารประเทศที่ฉลาดสามารถ และสุจริตเป็นธรรมแล้ว ยังต้องอาศัยความร่วมมือสนับสนุนจากประชาชนทั้งประเทศด้วย. คือประชาชนแต่ละคนจะต้องขวยขวายสร้างสรรค์ประโยชน์ และดำรงอยู่ในคุณธรรมอันสมควรแก่ฐานะของตน ๆ . คุณธรรมที่ทุกคนควรจะศึกษาและนำมาปฏิบัติ มีอยู่สี่ประการ. ประการแรก คือการรักษาความสัจ ความจริงใจต่อตนเอง ที่จะประพฤติปฏิบัติแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรม ประการที่สอง คือ การรู้จักข่มใจตนเองให้ประพฤติปฏิบัติ อยู่ในความสัจความดีนั้น ประการที่สาม คือ การอดทน อดกลั้น และอดออม ที่จะไม่ประพฤติล่วงความสัจสุจริต ไม่ว่าจะด้วยเหตุประการใด ประการที่สี่ คือการรู้จักละวางความชั่ว ความทุจริต และรู้จักสละประโยชน์ส่วนน้อยของตนเพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ของบ้านเมือง. คุณธรรมสี่ประการนี้ ถ้าแต่ละคนพยายามปลุกฝังจะบำรุงให้เจริญงอกงามขึ้นโดยทั่วกันแล้ว จะช่วยให้ประเทศชาติบังเกิดความสุข ความร่มเย็น และมีโอกาสที่จะปรับปรุงพัฒนาให้มั่นคงก้าวหน้าต่อไปได้ดังประสงค์......”
พระบรมราโชวาท ๕ เมษายน ๒๕๒๕
“................. ปัญหายุ่งยากในสังคมทุกวันนี้เกิดจากเหตุหลายอย่าง. แต่เหตุสำคัญที่ก่อปัญหาให้มาก คือความขาดหรือความบกพร่องในความเป็นระเบียบและความสะอาดมั่นคงในความประพฤติ และความคิดจิตใจของบุคคล. องค์การศาสนาทุกศาสนามีจุดมุ่งหมายและภารกิจในการขัดเกลาความประพฤติและจิตใจ ให้บุคคลถึงพร้อมด้วยคุณธรรมและจริยธรรมตามหลักศาสนาอยู่แล้ว จึงน่าจะทำหน้าที่แก้ปัญหาสังคมได้เป็นอย่างดีโดยไม่ยากลำบาก. ในการนี้ ทุกฝ่ายควรจะได้ร่วมมือกันและส่งเสริมกันอย่างจริงจังโดยประสานสอดคล้องและควรมีหลักมีแผนการที่แน่นอนเหมาะสมในการสั่งสอนเผยแพร่ธรรม. สำคัญที่สุด ควรจะได้พยายามปลูกฝังความเชื่อความเลื่อมใสในคุณธรรมความดี ให้เกิดขึ้นด้วยการประพฤติปฏิบัติเป็นตัวอย่าง ให้คนทั้งหลายได้เห็นประโยชน์และความดีจากแบบแผนการปฏิบัติและการอธิบายแนะนำที่ประกอบด้วยความเมตตาการุญ และควรระมัดระวังอย่างที่สุด ที่จะไม่ประกาศสั่งสอนโดยวิธีการที่จะก่อให้เกิดความคิดโต้แย้งหรือต่อต้านขึ้นในตัวผู้ฟัง เพราะการกระทำดังนั้นจะไม่ช่วยให้บังเกิดผลดีขึ้นได้เลย.........”  
พระบรมราโชวาท ๑๐ เมษายน ๒๕๒๕
“...........พระพุทธศาสนาวางแนวทางการศึกษาธรรมะเพื่อให้ประสบผลที่แท้จริงแน่นอนไว้ว่า บุคคลจะต้องศึกษาทั้งทางด้านปริยัติและด้านปฏิบัติประกอบพร้อมกันไป โดยกระทำให้หนักแน่นได้สัดส่วนกันทั้งสองด้าน จึงจะเกิดปฏิเวธ คือได้รับและได้เห็นผลของธรรมะนั้น ๆ เป็นที่ประจักษ์ประจักษ์ใจ. โดยนัยนี้ ตราบใดที่เรียนรู้แต่ไม่ประจักษ์ในผล ก็เรียกว่า บุคคลยังเรียนไม่สำเร็จ ยังไม่ได้ประโยชน์จากธรรมะอยู่ตราบนั้น และจะนำธรรมะไปแนะนำไปสั่งสอนหรือเผยแพร่แก่ใครไม่ได้จริง. ธรรมะขั้นใดระดับใดก็ตาม จำต้องศึกษาให้ทราบด้วย ต้องนำไปปฏิบัติด้วยกาย วาจาใจให้ได้รับผลปฏิบัติด้วย ผู้ศึกษาจึงจะเกิดปัญญารู้ชัดแจ้งในธรรมะนั้นได้. เพระฉะนั้น นอกจากจะศึกษาธรรมะอย่างนักวิชาการหรือนักปริยัติแล้ว ท่านทั้งหลายควรจะได้ศึกษาอย่างนักปฏิบัติอีกสถานหนึ่งพร้อม ๆ กันไป จักได้เข้าถึงธรรมะจริง ๆ จักได้รู้ได้เชื่อมั่นในธรรมะอย่างแน่วแน่ สมควรแก่หน้าที่ผู้เผยแผ่ศีลธรรมจรรยาและส่งเสริมทำนุบำรุงพระศาสนาอย่างแท้เที่ยง........”
พระบรมราโชวาท ๒๕ ธันวาคม ๒๕๒๕
“.............ความเจริญมั่นคงของส่วนรวมนั้นต้องอาศัยความเจริญมั่นคงของแต่ละบุคคลเป็นสำคัญ ดังนั้น ถ้าบุคคลอันเป็นองค์ประกอบของส่วนรวม ไม่มี ความเจริญและมั่นคงแล้ว ส่วนรวมจะเจริญและมั่นคงไม่ได้.........” พระบรมราโชวาท ๔ สิงหาคม ๒๕๒๖
“...........ไม่ว่าท่านจะมีภาระหน้าที่อันใดอยู่เป็นงานส่วนใหญ่ส่วนน้อยอย่างไรก็ตาม ควรจะพยายามตั้งใจปฏิบัติให้ลุล่วงไปโดยพลัน โดยเต็มความสามารถ ปรารภประโยชน์ของชาติบ้านเมืองเป็นสำคัญ ด้วยสติที่ตั้งมั่น และด้วยปัญญาที่กระจ่างแจ่มใสปราศจากอคติ. เมื่อจะวินิจฉัยตัดสินปัญหาใด ๆ ก็ให้กระทำด้วยเหตุผล และความสุขุมรอบคอบระมัดระวังเพื่อให้ภาระทุกอย่างที่ทำบรรลุผลสมบูรณ์ตามจุดประสงค์ จัดได้สำเร็จประโยชน์ เป็นความเจริญมั่นคงแก่ประเทศชาติอย่างแท้จริงยั่งยืนไป........”   
พระบรมราโชวาท ๕ ธันวาคม ๒๕๒๖
“..........การบำนุบำรุงและส่งเสริมพระศาสนานั้นไม่มีทางใดจะดี จะตรง จะสำคัญยิ่งไปกว่า การธำรงรักษาความบริสุทธิ์บริบูรณ์ของพระธรรมวินัย ทั้งในด้านปริยัติและในด้านปฏิบัติ การส่งเสริมศีลธรรมจรรยาของประชาชน ควรคำนึงถึงพื้นฐานความรู้ จิตใจ และอัธยาศัยของบุคคลแต่ละคนแต่ละหมู่เหล่าเป็นพิเศษ ต้องฉลาดเลือกข้อธรรมะที่เหมาะแก่พื้นฐานดังกล่าว และที่ช่วยเขาให้ได้รับประโยชน์จริง ๆ นำมาอธิบายแนะนำให้ปฏิบัติ เพื่อผลที่รับนั้น จะทำให้เขาบังเกิดศรัทธาและพอใจในความดี แล้วน้อมนำมาปฏิบัติให้ยิ่งขึ้นหนักแน่นขึ้นด้วยตนเอง ส่วนการรับใช้พระสงฆ์นั้นขอให้ถือหลักว่า การรับใช้ช่วยเหลือพระสงฆ์เพื่อให้ท่านสามารถประพฤติตามสมควรแก่สมณสารูปได้ เป็นจุดหมายสำคัญและแท้จริงสำหรับพุทธมามกชนจะพึงทำถวายพระภิกษุสงฆ์..........”
พระบรมราโชวาท ๑๖ - ๑๘ ธันวาคม ๒๕๒๖
“.............การที่ประเทศไทยและชาวไทยยินดีต้อนรับผู้เผยแผ่ศาสนาต่าง ๆ ด้วยไมตรี และด้วยความจริงใจฉันมิตรทุกสมัยมานั้น เป็นเพราะชาวไทยซึ่งเป็นพุทธมามกชน มีจิตสำนึกมั่งคงอยู่ในกุศลสุจริต และในความเมตตาการุญ เห็นว่าศาสนาทั้งปวงย่อมสั่งสอนความดี ให้บุคคลประพฤติปฏิบัติแต่ในทางที่ถูก ที่ชอบ ที่เห็นประโยชน์ ให้ใฝ่หาความสงบสุขความผ่องใสให้แก่ชีวิต ทั้งเรายังมีเนติแบบธรรมเนียมให้ต้อนรับนับถือชาวต่างชาติต่างศาสนาด้วยความเป็นมิตรแผ่ไมตรีแก่กันด้วยเมตตาจิตและด้วยความจริงใจบริสุทธิ์ใจ มิให้ดูแคลนเบียดเบียนผู้ถือสัญชาติและศาสนาอื่น ด้วยเป็นเหตุนำความแตกร้าวและความรุนแรงเดือดร้อนมาให้. ดังนี้ ศริสต์ศาสนา จึงเจริญงอกงามขึ้นได้ในประเทศนี้ ชาวไทยต่างรู้จักและเคารพยกย่ององค์สันตะปาปาประมุขแห่งชาวคาทอลิกอย่างสูง ในฐานะบุคคลสำคัญผู้หนึ่ง ผู้แผ่ความสงบร่มเย็นและความสว่างแจ่มใสแก่ชาวโลกถ้วนหน้า.
               เมื่อครั้งที่ข้าพเจ้ามีโอกาสไปเยือนสำนักวาติกัน เมื่อปีคริสตศักราช ๑๙๖๐ สมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ที่ ๒๓ ตรัสถามถึงคนไทยว่านับถือศาสนามากน้อยเพียงใด ข้าพเจ้าได้ทูลตอบว่า คนไทยเป็นศาสนิกชนที่ดีทั่วกัน. ส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาประจำชาติ และนอกนั้นยังนับถือศาสนาอื่นอีกหลายศาสนา เพราะชาวเรามีอิสรภาพแลสิทธิเสมอภาคกัน ทั้งโดยกฎหมายทั้งโดยประเพณีนิยม ในการนับถือศาสนา สมเด็จพระสันตะปาปาพระองค์นั้นทรงแสดงความชื่นชมยินดีกับข้าพเจ้าเป็นอันมาก ที่ประเทศไทยมีพลเมืองที่ดีมีศีลธรรม ยึดความถูกต้องเที่ยงตรงเป็นหลักปฏิบัติ..........”
พระบรมราโชวาท ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๒๗
“...........การบำเพ็ญประโยชน์จะต้องทำที่ตัวเองก่อน ด้วยการประพฤติดี เป็นต้นว่า รักษาระเบียบวินัย รักษาความสัตย์สุจริต ขยันหมั่นเพียร ปฏิบัติกิจการงานด้วยความเข้มแข็งหนักแน่น ให้จนติดเป็นนิสัย ผลของการทำดี ที่เป็นตัวประโยชน์ ก็จะงอกงามขึ้นในตัวผู้ปฎิบัติอย่างเต็มเปี่ยม แล้วจะสะท้อนงอกถึงผู้อื่น พลอยให้ผู้อื่นและส่วนรวมได้รับผลดีด้วย........”    พระบรมราโชวาท ๑ กรกฎาคม ๒๕๒๗
“..............การปฏิบัติส่งเสริมและทะนุบำรุงพระศาสนานั้น แม้จะมีแง่มุมและรายละเอียดในเนื้อหา การปฏิบัติข้อปฏิบัติ หรือในวิธีปฏิบัติอย่างไรก็ตาม ท่านทั้งหลายไม่ควรจะทิ้งหลักการข้อสำคัญที่ว่า เราจำเป็นต้องส่งเสริมการศึกษาและปฏิบัติธรรมะขั้นพื้นฐานให้มาก ทั้งนี้เพราะธรรมะขั้นพื้นฐานนั้นคนทั่วไปเรียนรู้ได้ง่าย เข้าใจได้ชัดและ ปฏิบัติได้ผลซึ่งย่อมทำให้เขาเหล่านั้นเห็นประโยชน์ของพระพุทธศาสนา ว่าเมื่อได้เรียนรู้และปฏิบัติตามธรรมบัญญัติแม้เพียงเบื้องต้นเท่านี้ ก็ยังได้รับประโยชน์ คือมีความสุข ความเจริญ ความร่มเย็นขึ้นมา ทั้งในกายในใจ ในการครองชีวิต ตลอดถึงในกิจการงาน........”
พระบรมราโชวาท ๒๐ ตุลาคม ๒๕๒๗
“..............วิถีชีวิตมนุษย์นั้น จะให้มีแต่ปรกติสุขอย่างเดียวไม่ได้ จะต้องมีทุกข์ มีภัย มีอุปสรรค ผ่านเข้ามาด้วยเสมอ ยากจะหลีกเลี่ยงพ้น ข้อสำคัญอยู่ที่ทุก ๆ คนจะต้องเตรียมการ เตรียมใจ และเตรียมการไว้ให้พร้อมทุกเวลา เพื่อเผชิญและแก้ไขความไม่ปรกติเดือดร้อนทั้งนั้นด้วยความไม่ประมาท ด้วยเหตุผล ด้วยหลักวิชา และด้วยสามัคคีธรรม จึงจะผ่อนหนักเป็นเบา และกลับร้ายให้กลายเป็นดีได้...........” 
พระบรมราโชวาท ๓๑ ธันวาคม ๒๕๒๗
“..............การทำงานให้สำเร็จขึ้นอยู่กับความสามารถสองอย่างเป็นสำคัญ คือสามารถในการใช้วิชาความรู้อย่างหนึ่ง สามารถในการสานสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างหนึ่ง ทั้งสองประการนี้ต้องดำเนินคู่กันไป และจำเป็นต้องกระทำด้วยความสุจริตการสุจริตใจ ด้วยความคิดความเห็นที่เป็นอิสระปราศจากอคติ และด้วยความถูกต้องตามเหตุตามผลด้วย จึงจะช่วยให้งานบรรลุจุดหมายและประโยชน์ที่พึงประสงค์โดยครบถ้วนแท้จริง............”
พระบรมราโชวาท ๑ เมษายน ๒๕๒๘
“................พระพุทธศาสนาคือศาสนาแห่งประโยชน์ ไม่ว่าผู้ใดถ้าเข้ามาศึกษาและปฏิบัติตามคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย่อมได้รับประโยชน์ตามวิสัยแห่งการศึกษาปฏิบัติของเขา การธำรงความเจริญมั่งคงของพระศาสนาจึงน่าจะเน้นที่การแนะนำทำให้เป็นประโยชน์ของการศึกษาปฏิบัติธรรมเป็นสำคัญ เมื่อมีผู้ศึกษาปฏิบัติธรรมและได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติธรรมมากขึ้น พระศาสนาก็เจริญแพร่หลายไปพร้อมกัน ข้อสำคัญควรจะถือปฏิบัติให้เคร่งครัดหนักแน่นว่า ต้องแสดงธรรมะให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ อย่าให้วิปริตแปรผัน และควรพยายามเน้นการศึกษาปฏิบัติธรรมขั้นพื้นฐานให้ยิ่งกว่าอื่น เพราะคนทั่วไปต้องการที่จะเรียนรู้ได้ง่าย เข้าใจได้ชัด ปฏิบัติได้สะดวก เมื่อประโยชน์แห่งการปฏิบัติธรรมเกิดขึ้นแล้ว เขาก็จะพึงพอใจ”  
 พระบรมราโชวาท ๗ มิถุนายน ๑๕๒๘
“..............การจะไปให้ถึงจุดหมาย จึงต้องใช้ความสามารถและความรอบคอบระมัดระวังมาก ตั้งแต่เริ่มต้น ตลอดไปจนถึงที่สุด แรกเริ่ม ก็ต้องพิจารณาหาทางที่ถูกและที่เหมาะที่สุดเป็นทางเดิน เมื่อไปถึงทางแยกทางร่วมจะเดินไปได้เป็นสองทางสามทาง ก็ต้องใช้ความรู้ความฉลาดตัดสินว่าควรจะเลือกไปทางไหนจึงจะสะดวก ปลอดภัย ไปถึงที่หมาย........”  
พระบรมราโชวาท ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๒๘
“...............สามัคคีที่ถูกต้อง ไม่ใช่สามัคคีเฮโลกันไป สามัคคีนี้บางทีก็ใช้ในทางผิดก็ได้ ถ้าใช้ในทางผิดก็มีหวังมีการปะทะกัน แต่สามัคคีในทางที่ถูกนั้นต้องอาศัยกำลังใจของแต่ละคนที่ทำอะไรหรือคิดอะไรในทางที่ถูก ที่ถูกหลักเหตุผลและประกอบด้วยเมตตา ถ้าหากว่าบุคคลมีจิตใจทีดีและหมู่คณะมีความสามัคคีที่ดี อาศัยใจที่มีเหตุผลดังกล่าวก็ทำให้หมู่คณะอยู่ดีได แต่ว่าต้องระวังคำว่าสามัคคีในหมู่คณะเพราะว่าถ้าหากว่ามีกำลังที่ไปในทางที่ไม่ดี คือ หมายความว่าคิดไม่รอบคอบหรือมีเหตุผลไม่ถูกต้อง ก็ทำให้ความสามัคคีนั้นกลายเป็นสามัคคีที่ไม่ถูกต้อง สามัคคีที่พาให้ตีกันถ้าหากว่าเป็นเช่นนั้นก็ไม่ดี..........” 
พระบรมราโชวาท ๔   ธันวาคม   ๒๕๒๘
“................การทำความดีนั้น โดยมากเป็นการเดินทวนกระแสความพอใจและความต้องการของมนุษย์ จึงทำได้ยาก และเห็นผลช้า แต่ก็จำเป็นต้องทำ เพราะหาไม่ ความชั่ว ซึ่งทำได้ง่าย จะเข้ามาแทนที่ แล้วจะพอกพูนขึ้นอย่างรวดเร็วโดยไม่ทันรู้สึกตัว..............”
พระบรมราโชวาท ๑๐ มีนาคม ๒๕๒๙
“............คำว่าดีคำว่าชั่วนี้ ยากที่จะวิเคราะห์ศัพท์ว่าแปลว่าอย่างไร เพราะว่าความดีความชั่วนั้นรู้ยาก แต่เมื่อทราบจากความคิดทั่ว ๆ ไปว่าอันนี้ดีก็น่าจะทำดี ทราบว่าอะไรอันนี้ไม่ดีก็น่าจะพยายามปฏิบัติเว้น..........” 
พระบรมราโชวาท ๔ ธันวาคม ๒๕๒๙
“..........ผู้ที่มุ่งหวังความดีและความเจริญมั่นคงในชีวิต จะต้องไม่ละเลยการศึกษา ความรู้ที่จะศึกษามีอยู่สามส่วน คือความรู้วิชาการ ความรู้ปฏิบัติการ และความรู้คิดอ่านตามเหตุผลความเป็นจริง ซึ่งแต่ละคนควรเรียนรู้ให้ครบ เพื่อสามารถนำไปใช้ประกอบกิจการงานและแก้ปัญหาทั้งปวงได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกประการหนึ่ง จะต้องมีความจริงใจและบริสุทธิ์ใจ ไม่ว่าในการงาน ในผู้ร่วมงาน หรือในการรักษาระเบียบแบบแผนความดีงาม ความถูกต้องทุกอย่าง เพราะความจริงใจนี้เป็นปัจจัยสำคัญยิ่ง ในการผดุงและสร้างเสริมความมีสมานฉันท์ ความประสานสามัคคี และความเป็นปึกแผ่นมั่นคง ของส่วนรวม ประการที่สาม จำเป็นต้องสำรวจดูความบกพร่องของตนเองอยู่สม่ำเสมอแล้วพยายามปฏิบัติแก้ไขเสียโดยเร็ว ไม่ปล่อยให้เจริญเติบโตทำความเสื่อมเสียแก่การกระทำและความคิด ประการที่สี่ ต้องฝึกฝนให้มีความสงบหนักแน่น ทั้งในการในใจในคำพูด เพราะความสงบหนักแน่นเป็นเครื่องผ่อนปรนระงับความรุนแรง ความขัดแย้ง ความไม่เข้าใจในกันและกันในทุกกรณี.......”
 พระบรมราโชวาท ๒๔ มกราคม ๒๕๓๐
                                                                                                                         
“........การสร้างสรรค์แผ่นดินไทยให้เป็นแผ่นดินทองหรือการช่วยตัวเองในปัจจุบันนี้ เห็นว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำความสงบให้เกิดขึ้นก่อนโดยเร็ว เพราะถ้าความสงบยังไม่เกิด เราจะคิดอ่านแก้ปัญหา หรือจะรวมกำลังกันทำการงานช่วยตัวเองได้ไม่.............”
พระบรมราโชวาท ๓๑    มกราคม    ๒๕๓๐
“...............ข้าราชการที่สามารถต้องมีความรู้ครบสามส่วน คือความรู้วิชาการ ความรู้ปฏิบัติการ และความรู้คิดอ่านตามเหตุผลตามความเป็นจริง ต้องมีความจริงใจและบริสุทธิ์ใจในงาน ในผู้ร่วมงาน ในการรักษาระเบียบแบบแผน ความดีงามความถูกต้องทุกอย่างในแผ่นดิน ต้องมีความสงบหนักแน่นทั้งในกาย ในใจ ในคำพูด ต้องสำรวจดูความบกพร่องของตนอยู่สม่ำเสมอ แล้วปฏิบัติแก้ไขเสียโดยเร็ว ไม่ปล่อยให้เจริญงอกงามทำความเสียหายให้แก่การกระทำ ความคิด และการงาน..........” 
พระบรมราโชวาท ๑ เมษายน ๒๕๓๐
“........หลักการสำคัญประการหนึ่งที่จะส่งเสริมให้ปฏิบัติงานสำเร็จและเจริญก้าวหน้าได้แท้จริง คือการไม่ทำตัวทำความคิดให้คับแคบ หากให้มีเมตตาและไมตรี ยินดีประสานสัมพันธ์กับผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ร่วมงานอย่างจริงใจ........”
พระบรมราโชวาท ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๓๐
“..........ความซื่อสัตย์สุจริตเกิดจากผลการปฏิบัติงานและปฏิบัติตัวของแต่ละคนที่สามารถปฏิบัติงานในความรับผิดชอบให้ได้ผลสมบูรณ์ตามวัตถุประสงค์ และ ปฏิบัติตัวให้สุจริต เที่ยงตรง พอควรพอดีแก่ตำแหน่งหน้าที่ทีดำรงอยู่.........” 
พระบรมราโชวาท ๑ เมษายน ๒๕๓๑
“..........แต่ละคนจะต้องสร้างความสำเร็จให้แก่ตนเองให้สมบูรณ์ ทั้งด้านงานอาชีพ ทั้งด้านเกียรติคุณความดี และบำเพ็ญประโยชน์เกื้อกูลส่วนรวมและชาติบ้านเมือง การสร้างความสำเร็จดังกล่าว จำต้องอาศัยปัจจัยประกอบพร้อมกันอย่างน้อยสามส่วน ส่วนแรกได้แก่ความรู้ความสามารถทางวิชาการ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักสำหรับนำมาปฏิบัติงาน ส่วนทีสองได้แก่จิตใจที่มีสุขภาพสมบูรณ์ และมีความเข้มแข็งหนักแน่นในเหตุผล ในความสุจริตถูกต้องในหน้าที่ความรับผิดชอบ ซึ่งเป็นปัจจัยส่วนพื้นฐานที่จะรองรับวิชาความรู้และความคิดอ่านทั้งปวงไว้ให้มั่นคง มิให้หวั่นไหวและผันแปรไปในทางเสื่อม ความเสียหาย ส่วนที่สามได้แก่ความรอบรู้ และความคิดอ่านที่กว้างไกล มีหลักเกณฑ์กับทั้งความเฉลียวฉลาดคล่องตัวในการติดต่อประสานงานประสานประโยชน์กับทุก ๆ ฝ่าย ซึ่งเป็นปัจจัยส่วนที่ส่งเสริมให้สามารถปฏิบัติภารกิจทุกด้านได้โดยราบรื่นรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ปัจจัยทั้งสามส่วนนี้ เมื่อประกอบพร้อมกันได้ครบถ้วนย่อมบันดาลให้การงานทั้งปวงไม่ว่าเล็กใหญ่ง่ายยาก สำเร็จผลที่พึงประสงค์ได้ทุกอย่าง.................”
พระบรมราโชวาท ๓๐ มิถุนายน ๒๕๓๑
“...............ผู้ที่จะสร้างความสำเร็จในการงานและชีวิตได้แน่นอนนั้น ควรมีคุณสมบัติประกอบพร้อมกันอย่างน้อย ๕ ประการ ประการแรก ควรจะต้องมีความสุจริต ความมีใจจริง ความตั้งใจจริง ความอุตสาหะอดทน และความเมตตาเสียสละ เป็นพื้นฐานด้านจิตใจ ประการที่สอง ควรจะต้องมีวิชาความรู้ทีถูกต้อง แม่นยำ ชำนาญ พร้อมทั้งมีฝีมือหรือความสามารถ ในเชิงปฏิบัติ เป็นเครื่องมือสำหรับประกอบการ ประการที่สาม ควรจะต้องมีสติความยั้งคิด และวิจารณญาณอันถี่ถ้วนรอบคอบ เป็นเครื่องควบคุมกำกับให้ดำเนินงานไปได้โดยถูกต้อง เที่ยงตรงตามทิศทาง ประการที่สี่ จะต้องมีความรอบรู้ มีความสามารถประสานงานและประสานประโยชน์กับผู้อื่นได้อย่างกว้างขวาง เป็นเครื่องส่งเสริมให้ทำงานได้คล่องตัวและก้าวหน้า และประการทีห้า ซึ่งสำคัญที่สุด จะต้องมีความฉลาดรู้ในเหตุในผล ในความผิดถูกชั่วดี ในความพอเหมาะพอสม เป็นเครื่องตัดสินและสั่งการปฏิบัติงานทั้งมวลให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ........”
พระบรมราโชวาท ๖ กรกฎาคม ๒๕๓๑
“..........พุทธภาษิตข้อหนึ่งที่ว่า “ผู้ใดเข้าใจสิ่งที่ไม่เป็นสาระว่าเป็นสาระ และเห็นสิ่งที่เป็นสาระว่าไม่เป็นสาระ ผู้นั้นมีความดำริ ผิดเป็นโคจร จึงไม่ประสบสิ่งที่เป็นสาระได้เลย ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นพุทธภาษิตข้อสำคัญ ที่พุทธศาสนิกชนทุกคนควรทราบ ควรศึกษาให้เข้าใจชัด และควรสำเหนียกตระหนักอยู่ตลอดเวลา เพราะจำทำให้เกิดสัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ อันจะอนุกูลให้แต่ละคนประพฤตปฏิบัติการงานแต่ในทางที่เป็นแก่นสารเป็นประโยชน์ และประสบความสำเร็จทุกเมื่อ ไม่มี่ตกต่ำ ...........”
พระบรมราโชวาท ๕ - ๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๑
“...........นักศึกษาจำเป็นต้องทำสติ หรือตั้งสติ ความระลึกนี้ไว้ให้มั่นเสมอ เพื่อให้รับรู้และเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ที่ผ่านพบ อย่างครบถ้วนชัดเจน จักได้สามารถจับเหตุ จับผล จับหลักการได้ถูกต้องตั้งแต่ต้น ข้อใดที่มิใช่ประโยชน์ ก็คัดออกไป ข้อใดที่เป็นประโยชน์ก็จดจำสะสมไว้ในความทรงจำ..........” 
พระบรมราโชวาท ๒๗ ธันวาคม ๒๕๓๑
“..........อุปสรรคสำคัญของการทำงานคือ ความท้อถอย และความหวั่นเกรงต่ออิทธิพลต่าง ๆ ซึ่งเป็นเหตุบั่นทอนความสามารถในตนกับทั้งความเที่ยงตรงต่อหน้าที่อย่างร้ายกาจ...........” 
พระบรมราโชวาท ๑๘ เมษายน ๒๕๓๒
“.......เจตนาสำคัญข้อหนึ่งของมหาวิทยาลัย   ก็คือความมุ่งจะอบรมนักศึกษาให้เป็นคนเก่ง คือให้มีความเป็นเลิศในด้านต่าง ๆ รอบตัว เช่นในด้านวิชาการ ด้านความคิดริเริ่มด้านความกล้าหาญสามารถในการแสดงออก       และความกระตือรือร้นที่จะก้าวหน้าเป็นต้น. การสอนคนให้เก่งนี้ ถ้าดูเฉพาะบางแง่บางมุม อาจเห็นว่าดีว่าสอดคล้องต้องกับสมัยเร่งรัดพัฒนา. แต่ถ้ามองให้ถี่ถ้วนรอบด้านแล้ว จะเห็นว่าการมุ่งสอนคนให้เก่งเป็นเกณฑ์ อาจทำให้เกิดจุดบกพร่องต่าง ๆขึ้นในตัวบุคคลได้ไม่น้อย. ที่สำคัญก็มี
        ข้อหนึ่ง บกพร่องในความคิดพิจารณาที่รอบคอบและกว้างไกล เพราะใจร้อนเร่งจะทำการให้เสร็จโดยเร็ว เป็นเหตุให้การงานผิดพลาด ขัดข้อง และล้มเหลว.
        ข้อสอง   บกพร่องในความนับถือและเกรงใจผู้อื่น เพราะถือตนว่าเป็นเลิศ เป็นเหตุให้เย่อหยิ่ง มองข้ามความสำคัญของบุคคลอื่น และมักก่อความขัดแย้งทำลายไมตรีจิตมิตรภาพตลอดจนความสามัคคีระหว่างกัน
        ข้อสาม   บกพร่องในความมัธยัสถ์พอเหมาะพอดีในการกระทำทั้งปวง เพราะมุ่งหน้าแต่ทำตัวให้เด่น ให้ก้าวหน้า เป็นเหตุให้เห็นแก่ตัว เอารัดเอาเปรียบ
        ข้อสี่    บกพร่องในจริยธรรมและความรู้จักผิดชอบชั่วดี เพราะมุ่งแต่จะแสวงหาประโยชน์เฉพาะตัวให้เพิ่มพูนขึ้น เป็นเหตุให้ทำความผิดและความชั่วทุจริตได้โดยไม่รู้สึกสะดุ้งสะเทือน
       ผู้ที่มีจุดบกพร่องดังกล่าวนี้ เห็นกันอยู่ว่ามักจับเหตุจับผล จับหลักการไม่ถูก. ส่วนใหญ่จึงประสบปัญหาและความผิดพลาด ไม่อาจสร้างความเจริญก้าวหน้าที่มั่นคงแท้จริงให้แก่ตนแก่บ้านเมืองได้ตามเป้าหมาย. ดังนั้น นอกจากจะสอนคนให้เก่งแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอบรมให้ดีพร้อมกันไปด้วย. ประเทศของเราจึงจะได้คนที่มีคุณภาพพร้อม คือทั้งเก่งทั้งดีมาเป็นกำลังของบ้านเมือง กล่าวคือ ให้ความเก่งเป็นปัจจัยและพลังสำหรับการสร้างสรรค์ ให้ความดีเป็นปัจจัยและพลังประคับประคองหนุนนำความเก่ง ให้เป็นไปในทางที่ถูกที่ควร ที่อำนวยผลเป็นประโยชน์อันพึงประสงค์แต่ฝ่ายเดียว.....” 
พระราชดำรัส   ๓ ตุลาคม ๒๕๓๒
“.....ความเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งที่น่าวิตกคือ ทุกวันนี้ ความคิดอ่านและความประพฤติหลาย ๆ อย่าง ซึ่งแต่ก่อนถือว่าเป็นความชั่วความผิด ได้กลายเป็นสิ่งที่คนในสังคมยอมรับ แล้วพากันประพฤติปฏิบัติโดยไม่รู้สึกสะดุ้งสะเทือน จนทำให้เกิดปัญหาและทำให้วิถีชีวิตของแต่ละคนมืดมนลงไป. ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นหน้าที่ของชาวพุทธจะต้องร่วมกันแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง. แต่ละท่านแต่ละฝ่ายต้องยึดหลักการให้มั่นคง ที่จะทำสิ่งใด ๆ ที่ชั่วที่เสื่อม   ต้องกล้าและบากบั่น ที่จะทำแต่สิ่งที่เป็นความดีเป็นความถูกต้องและเป็นธรรม เพื่อให้ผลความประพฤติดีปฏิบัติชอบบังเกิดเพิ่มพูนขึ้น และค้ำจุนส่วนรวมไว้มิให้เสื่อมทรุดลง หากให้กลับฟื้นคืนดีขึ้นได้เป็นลำดับ.....”
พระบรมราโชวาท   ระหว่างวันที่ ๑๘-๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๓๒
“.....ปัญหาทุกอย่างมีทางแก้ไขได้. ถ้าแก้คนเดียวไม่ได้   ก็ช่วยกันคิดช่วยกันแก้หลาย ๆ คน หลาย ๆ ทาง ด้วยความร่วมมือปรองดองกัน. ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น จักได้ไม่กลายเป็นอุปสรรคขัดขวาง และบ่อนทำลายความเจริญและความสำเร็จของการงาน.....”
พระบรมราโชวาท   ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๓๓
“.....การตั้งต้นงานนี้สำคัญที่สุด คำว่า “ตั้ง” นั้นก็มีไว้ เพราะว่าสำหรับทำงานใด ๆก็จะต้องมีความตั้งใจ ตั้งใจนั้นก็คือเอาใจตั้งในงาน หรืออีกอย่างเอางานมาตั้งไว้ข้างหน้าใจ เมื่อเอางานมาตั้งไว้ข้างหน้าใจ หรือเอาใจตั้งไว้ในงานนั้น เชื่อว่างานก็คงจะสำเร็จล่วงไปได้โดยดี...”
พระราชดำรัส   ๑๖ ธันวาคม   ๒๕๓๓
“.....เมื่อคิดเรื่องใดสิ่งใด ต้องทำใจให้มั่นคงเป็นกลาง มีเหตุมีผล มีความจริงใจ และสุจริตเที่ยงตรง เพื่อความคิดจักได้กระจ่าง แน่วแน่ เห็นถึงจุดหมายและประโยชน์ที่แท้ของภารกิจของตนอย่างถูกต้องครบถ้วน แล้วสามารถสรรหาหลักวิชาส่วนที่เหมาะที่ถูก มาใช้ปฏิบัติการได้อย่างมีประสิทธิภาพ...”
พระบรมราโชวาท ๒ สิงหาคม ๒๕๓๓
“.....หลักของการปกครองในปัจจุบันนี้ ซึ่งก็จะต้องอาศัยบุคคลที่มีความสามารถ หมายถึงมีความรู้ มีความตั้งใจ มีความเฉลียวลาด และมีกำลังกายใจแข็งแรง เพื่อที่จะให้บรรลุผลได้ดี สิ่งที่สำคัญก็คำที่เริ่มปฏิญาณว่าจะปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริตนั้น เป็นสิ่งที่นับว่าสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ถ้าทำงานด้วยความรู้ในหลักวิชา และประกอบด้วยความซื่อสัตย์สุจริตต่อประเทศชาติ งานนั้นก็บรรลุผลได้เต็มที่ ไม่ว่าอยู่ในตำแหน่งใด...”
พระราชดำรัส ๒๙ สิงหาคม ๒๕๓๓
“.....ความริเริ่มนั้น ฟังดูเผิน ๆ ดูเหมือนจะผุดเกิดขึ้นมาได้เอง. แต่ที่จริงความคิดชนิดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าปราศจากพื้นฐาน หมายความว่า ก่อนที่ความคิดริเริ่มในเรื่องหนึ่งเรื่องใดจะเกิดขึ้น บุคคลจะต้องมีความรู้ที่ชัดเจนและกว้างขวางในเรื่องนั้น ๆ เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ทั้งยังต้องมีความคิดพิจารณาที่ดีมีระบบ มีหลักเกณฑ์และเหตุผลพร้อมอยู่ด้วย. เมื่อได้นำความรู้กับความคิดพิจารณานั้น มาประสานกันเข้าอย่างถูกถ้วนพอเหมาะพอดี จึงจะสามารถสร้างความคิดใหม่ที่พร้อมมูลด้วยสาระและหลักการ อันเรียกว่าความคิดริเริ่มขึ้นมาได้ สำหรับใช้เกื้อกูลการปฏิบัติบริหารงาน...”
พระบรมราโชวาท ๒๔ มกราคม ๒๕๓๕
“.....จิตใจที่สะอาดปลอดโปร่งจากสิ่งรบกวนนี้สำคัญมาก เพราะเป็นจิตใจสงบระงับและเยือกเย็น ทำให้บุคคลมีสติรู้ตัว มีความคิดเที่ยงตรงเป็นกลาง มีวิจารณญาณละเอียดกว้างขวาง และถูกต้องตรงจุด. ความคิดวิจารณญาณที่เกิดจากจิตใจที่สงบนี้มีศักยภาพสูง   อาจนำไปใช้คิดอ่านสร้างสรรค์สิ่งที่จะอำนวยประโยชน์สุข ความเจริญก้าวหน้า ตลอดจนชื่อเสียงเกียรติคุณ อันเป็นสิ่งที่ปรารถนาของแต่ละคนให้สัมฤทธิ์ผลได้...”
พระราชดำรัส ๓๑ ธันวาคม   ๒๕๓๕
“.....สามัคคีหรือการปรองดองกัน ไม่ได้หมายความว่า คนหนึ่งพูดอย่างหนึ่งคนอื่นต้องพูดเหมือนกันหมด. ลงท้ายชีวิตก็ไม่มีความหมาย. ต้องมีความแตกต่างกัน แต่ต้องทำงานให้สอดคล้องกัน. แม้จะขัดกันบ้าง ก็ต้องสอดคล้องกัน ถ้าไม่สอดคล้องกัน พัง...”
พระราชดำรัส ๔ ธันวาคม ๒๕๓๖
“.....ชาวพุทธที่แท้จึงเป็นผู้คิดชอบปฏิบัติชอบอยู่เป็นปกติ อยู่ ณ ที่ใดก็ทำให้ที่นั้นสงบร่มเย็น มีแต่ความปรองดองและสร้างสรรค์.   จึงเป็นโชคดีอย่างยิ่ง ที่ประเทศไทยเรามี พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ทำให้คนไทยทุกเชื้อชาติศาสนาอยู่ร่วมกันด้วยความสุข มีความรักความปรารถนาดีต่อกัน มีการสงเคราะห์อนุเคราะห์ซึ่งกัน และมีความสมัครสมานสามัคคีกันเป็นอย่างดี. การที่ยุวพุทธิกสมาคมได้ตั้งใจพยายามในอันที่จะปลุกจิตสำนึกของชาวพุทธให้หนักแน่นมั่นคงในพระศาสนายิ่งขึ้น จึงเป็นสิ่งที่ดีมีคุณประโยชน์ ทั้งแก่การจรรโลงพระพุทธศาสนา และแก่ส่วนรวม คือประเทศชาติอันเป็นที่เกิดที่อาศัย...”
พระบรมราโชวาท ๒๖ ธันวาคม ๒๕๓๗
“.....ทุกสิ่งทุกอย่างแปรเปลี่ยนไปเป็นธรรมดา สังคมก็เช่นเดียวกัน ย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามวิวัฒนาการของโลก. ข้อนี้จึงไม่ควรวิตกให้มากเกินไป
         อีกข้อหนึ่ง ท่านทั้งหลายจะต้องไม่ลืมว่า พระพุทธศาสนานั้นถ้าหมายถึงคำสั่งสอนที่เที่ยงตรงตามพุทโธวาทแท้ ๆ แล้ว   ย่อมมีความแน่นอนมั่นคงอยู่ในตัว เช่น ความดีก็เป็นความดี ความชั่วก็เป็นความชั่ว และทำดีย่อมได้ดี ทำชั่วย่อมได้ชั่วอย่างปราศจากข้อสงสัย.   เหตุนี้ พระธรรมจึงชื่อว่าอกาลิโก คือถูกต้องเที่ยงแท้ และไม่ประกอบด้วยกาล เหมาะที่จะน้อมนำมาประพฤติปฏิบัติเสมอไม่ว่าในกาลไหน ๆ. ข้อสำคัญ ชาวพุทธจะต้องขวนขวายศึกษาพุทธธรรมให้ทราบชัด และน้อมนำมาปฏิบัติอย่างจริงจัง ด้วยการพยายามลดละความโลภ ความโกรธ ความหลง อันเป็นต้นเหตุแห่งการกระทำชั่วกระทำผิด และกล้าที่จะบากบั่นกระทำสิ่งที่เป็นความดี โดยไม่ต้องกลัวว่าจะเป็นสิ่งที่พ้นสมัยหรือน่ากระดากอาย. ถ้าชาวพุทธทำได้ดังนี้ ก็จะเป็นเหตุเกื้อกูลอย่างสำคัญ ที่จะช่วยจรรโลงรักษาพระพุทธศาสนาไว้ให้มั่นคงในทุกสถานะและในกาลทุกเมื่อ.....”
พระบรมราโชวาท ๑๕ ธันวาคม ๒๕๓๘
“.....ผู้มีปัญญาและความรู้ดี เพราะมีโอกาสได้ศึกษาเล่าเรียนมามากกว่าผู้อื่น ย่อมมีหน้าที่และความรับผิดชอบเป็นพิเศษ ที่จะต้องทำตัวทำงานให้เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน. การที่จะกระทำให้ได้ผลเป็นประโยชน์ดังนั้น จำเป็นที่แต่ละคนต้องรู้ซึ้งถึงประโยชน์ที่แท้เป็นเบื้องต้นก่อน. ประโยชน์ที่แท้นั้นมีอยู่ ๒ อย่าง คือ ประโยชน์ส่วนตัว ที่ทุกคนมีสิทธิ์จะแสวงหาและได้รับ แต่ต้องด้วยวิถีทางที่สุจริตและเป็นธรรม กับประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งเป็นประโยชน์ของชาติที่แต่ละคนมีส่วนร่วมกันอยู่. การทำงานทุกอย่างจะต้องให้ได้ประโยชน์แท้ทั้งส่วนตัวและส่วนรวม ประโยชน์นั้นจึงจะสมบูรณ์และมั่นคงถาวร เป็นผลดีแก่ชาติบ้านเมืองอย่างแท้จริง.....”
พระบรมราโชวาท ๕ กรกฎาคม ๒๕๓๙
“.....ปัญหาทุกอย่างไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ มีทางแก้ไขได้ ถ้ารู้จักคิดได้ดี ปฏิบัติได้ถูก. การคิดได้ดีนั้น มิใช่การคิดได้ด้วยลูกคิดหรือด้วยสมองกล เพราะถึงโลกเราในปัจจุบันจะวิวัฒนาการไปมากเพียงใดก็ตาม ก็ยังไม่มีเครื่องมืออันวิเศษชนิดใดสามารถขบคิดแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างสมบูรณ์. การขบคิดวินิจฉัยปัญหา  จึงต้องใช้สติปัญญา คือ คิดด้วยสติรู้ตัวอยู่เสมอ เพื่อหยุดยั้งและป้องกันความประมาทพลาดผิดและอคติต่าง ๆ มิให้เกิดขึ้น ช่วยให้การใช้ปัญญาพิจารณาปัญหาต่าง ๆ เป็นไปอย่างเที่ยงตรง ทำให้เห็นเหตุเห็นผลที่เกี่ยวเนื่องกัน เป็นกระบวนการได้กระจ่างชัดทุกขั้นตอน....”
พระบรมราโชวาท ๑ สิงหาคม ๒๕๓๙ 
“.....คนดีทำให้คนอื่นดีได้ หมายความว่าคนดี ทำให้เกิดความดีในสังคม คนอื่นก็ดีไปด้วย. ความเลวนั้นจะทำให้คนดีเป็นคนเลวก็ยาก แต่เป็นไปได้ ถ้าคนดีเข้มแข็งในความดี จะให้คนเลวมาทำให้คนดีเป็นคนเลวยาก. สำคัญอยู่ที่ความเข้มแข็งของคนดี....”
พระราชดำรัส ๔ ธันวาคม ๒๕๓๔
“.....คนเราเมื่อมีความรู้ความสามารถที่ดีเป็นทุนรอนอยู่จะไม่มีวันอับจน ย่อมหาทางสร้างตัวสร้างฐานะให้ก้าวหน้าได้เสมอ. ข้อสำคัญ ในการสร้างตัวสร้างฐานะนั้นจะต้องถือหลักค่อยเป็นค่อยไป ด้วยความรอบคอบ ระมัดระวังและความพอเหมาะพอดี ไม่ทำเกินฐานะและกำลัง หรือทำด้วยความเร่งรีบ. เมื่อมีพื้นฐานแน่นหนารองรับพร้อมแล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญก้าวหน้าในระดับที่สูงขึ้น ตามต่อกันไปเป็นลำดับ. ผลที่เกิดขึ้นจึงจะแน่นอน มีหลักเกณฑ์ เป็นประโยชน์แท้และยั่งยืน...”
พระบรมราโชวาท ๑๘ ธันวาคม ๒๕๔๐
“.....คนเราถ้าพอในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อย ก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย. ถ้าทุกประเทศมีความคิด – อันนี้ไม่ใช่เศรษฐกิจ - มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่า พอประมาณ ไม่สุดโด่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข. พอเพียงนี้อาจจะมีมาก อาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่เบียดเบียนคนอื่น....”
พระราชดำรัส ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑
“.....คุณธรรมข้อหนึ่ง ที่ยังมีอยู่อย่างบริบูรณ์ในจิตใจของคนไทย ก็คือ การให้. การให้นี้ ไม่ว่าจะให้สิ่งใด แก่ผู้ใด โดยสถานใดก็ตาม ล้วนเป็นสิ่งที่พึงประสงค์อย่างยิ่ง เพราะเป็นเครื่องประสานไมตรีอย่างสำคัญระหว่างบุคคลกับบุคคล และทำให้สังคมมีความมั่นคงเป็นปึกแผ่น ด้วยสามัคคีธรรม. นอกจากนั้น การให้ยังเป็นบ่อเกิดแห่งความสุขอีกด้วย กล่าวคือ ผู้ให้ก็มีความสุข มีความอิ่มเอิบใจ ผู้รับก็มีความสุข มีกำลังใจ สังคมส่วนรวมตลอดถึงประเทศชาติ ก็มีความผาสุก มีความร่มเย็น...”
พระราชดำรัส ๓๑ ธันวาคม ๒๕๔๕
“.....ทุกคนในผืนแผ่นดินไทย ทั้งทหาร ตำรวจ และพลเรือน มีความสามัคคีกัน ต่างห่วงใยกันด้วยใจจริง ได้แสดงเจตนารมณ์ที่จะอยู่ร่วมกันโดยสันติสุข และเมื่อเกิดภัยพิบัติ คนไทยไม่ทิ้งกัน ต่างพร้อมเพรียงกันเข้าปฏิบัติช่วยเหลือทันที ด้วยความเสียสละและเมตตาจริงใจ ไม่เลือกว่าเป็นชาวไทยหรือชาวต่างประเทศ.....”
พระราชดำรัส   ๓๑ ธันวาคม ๒๕๔๗
“.....จิตใจที่สะอาดและสงบนี้สำคัญมาก เพราะทำให้บุคคลมีสติรู้ตัว มีวิจารณญาณเที่ยงตรงถูกต้อง สามารถคิดอ่านสร้างสรรค์สิ่งที่จะอำนวยประโยชน์สุข ความเจริญก้าวหน้า ตลอดจนชื่อเสียงเกียรติคุณ อันเป็นสิ่งที่แต่ละคนต้องการ ให้สัมฤทธิ์ผลได้....”
พระราชดำรัส ๓๑ ธันวาคม ๒๕๔๘
“.....ข้าราชการผู้ปฏิบัติบริหารงานของแผ่นดิน จะต้องมุ่งปฏิบัติภาระทั้งปวงด้วยความอุตสาหะเพ่งพินิจ ใช้ความรู้ความคิด ความเฉลียวฉลาด และความรู้ผิดชอบชั่วดีเป็นเครื่องวิจัยวิจารณ์ ปรับปรุงตัวปรับปรุงงานให้มีประสิทธิภาพเสมอ. งานที่ทำจึงจะสำเร็จผลสมบูรณ์ และก่อเกิดประโยชน์ที่พึงประสงค์ เป็นความเจริญมั่นคงทั้งแก่ตนแก่งาน และแก่ส่วนรวมพร้อมทุกส่วน....”
พระบรมราโชวาท ๑ เมษายน ๒๕๔๙
“.....การทำนุบำรุงประเทศชาตินั้น มิใช่เป็นหน้าที่ของผู้หนึ่งผู้ใดโดยเฉพาะ หากเป็นภาระความรับผิดชอบของคนไทยทุกคน ที่จะต้องขวนขวายกระทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด เพื่อธำรงรักษาและพัฒนาชาติบ้านเมืองให้เจริญมั่นคงและผาสุกร่มเย็น....”
พระราชดำรัส   ๑๒ มิถุนายน ๒๕๔๙
“.....บ้านเมืองของเรามีเหตุการณ์เกิดขึ้นหลายอย่าง. บางเรื่องก็กระทบกระเทือนถึงฐานะทางเศรษฐกิจ การคลัง การเมือง ตลอดจนชีวิตความเป็นอยู่และความมั่นคงปลอดภัย. สมควรที่เราชาวไทย จะร่วมมือกันแก้ไข ให้คลี่คลายไปโดยเร็ว...”
พระราชดำรัส ๓๑ ธันวาคม ๒๕๔๙
“.....งานของแผ่นดินนั้น เป็นงานส่วนรวม มีผลเกี่ยวเนื่องถึงความเจริญขึ้นหรือเสื่อมลงของบ้านเมืองและสุขทุกข์ของประชาชนทุกคน. ข้าราชการผู้ปฏิบัติบริหารงานของแผ่นดิน จึงต้องสำนึกตระหนักในความรับผิดชอบที่มีอยู่ และตั้งใจพยายามปฏิบัติหน้าที่โดยเต็มกำลังความสามารถ ด้วยความเข้มแข็งสุจริต และด้วยปัญญารู้คิดพิจารณา ว่าสิ่งใดเป็นความเจริญ สิ่งใดเป็นความเสื่อม อะไรเป็นสิ่งที่ต้องทำ อะเป็นสิ่งที่ต้องละเว้นและกำจัด อย่างชัดเจน ถูก ตรง ....”
พระบรมราโชวาท   ๑ เมษายน ๒๕๕๐
“....ถ้าท่านประพฤติดี ปฏิบัติงานในหน้าที่ด้วยความเข้มแข็งรับผิดชอบ ก็จะเกิดเป็นการนำที่ดี เป็นตัวอย่างที่ดี ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาได้ประพฤติปฏิบัติตาม. สิ่งที่แต่ละคนแต่ละหน่วยงานปฏิบัติ ก็จะประกอบส่งเสริมกัน ในงานส่วนรวมของชาติดำเนินไปสู่เป้าหมายที่พึงประสงค์ คือความมั่นคงปลอดภัยของบ้านเมือง และความวัฒนาผาสุกของประชาชน...”
พระบรมราโชวาท ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๐